ไซไฟของผู้หญิง โดย ฮางิโอะ โมโตะ

Oct 18th, 2008 | By | Category: Articles
ไซไฟของผู้หญิง โดย ฮางิโอะ โมโตะ

by vee vee’ เขียนลงใน Bloggang เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2549

ตามโปรแกรมที่โปรโมทล่วงหน้ามาหลายๆๆๆ เดือน แฮ่ มาเริ่มต้นเปิดบล็อกหลังซ่อมด้วยอะไรแปลกๆ เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศกันนะคะ

นั้นคืออ. ฮางิโอะ โมโตะ นั่นเองค่ะ

ฮางิโอะ โมโตะ (Hagio Moto) เป็นนักเขียนการ์ตูนผู้หญิงรุ่นลายครามขึ้นหิ้งที่มีเกียรติประวัติและผลงานมากมายจนจขบ.ไม่มีปัญญามาเขียนลงบล็อกได้หมด แต่ถ้าจะต้องกล่าวโดยสรุปแล้ว ฮางิโอะ โมโตะได้รับการกล่าวขวัญเป็นอย่างมากสองด้าน นั่นคือในฐานะหนึ่งในผู้บุกเบิกการ์ตูนผู้หญิงยุคใหม่ (ซึ่งรวมไปถึงการให้กำเนิดการ์ตูนวาย เช่น The Poe Family (1972), Thomas’ Heart (1973) ที่จัดเป็นเรื่องแนววายคลาสสิกมาถึงปัจจุบัน) และในฐานะเจ้าแม่การ์ตูนผู้หญิงแนววิทยาศาสตร์หรือไซไฟ (เช่น They Were Eleven, A-A’)

จขบ.ได้อ่านงานของฮางิโอะ โมโตะตั้งแต่ยังเด็กมากกก และมันก็อาจเป็นการ์ตูนไซไฟเรื่องแรกๆ ในชีวิตของจขบ.ด้วย นั่นคือ Star Red ที่พิมพ์โดยสนพ.ยอดธิดาค่ะ

Star Red

เป็นเรื่องราวในอนาคต ดาวอังคารถูกใช้เป็นคุกสำหรับเนรเทศนักโทษจากโลก เมื่อเวลาผ่านไป จะด้วยสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายหรืออะไรก็ตามแต่ก็เกิดการกลายพันธุ์ ทำให้ชาวดาวอังคารหรือลูกหลานของนักโทษมีผมสีขาวกับนัยน์ตาสีแดง ทั้งยังพัฒนาพลัง ESP ได้ด้วย แน่นอนว่าชาวโลกย่อมหวั่นเกรงพลังพิเศษนี่ ทำให้สถานะของชาวดาวอังคารย่ำแย่ลงไปอีก มีการฆ่าหมู่และจับชาวดาวอังคารมาทดลองเป็นจำนวนมาก นางเอกทนความกดขี่ไม่ได้จึงก่อตั้งขบวนการใต้ดินเพื่อปลดแอกพวกพ้องขึ้นมา

เวลาผ่านไปขนาดนี้ Star Red ของจขบ.ก็ขึ้นไปอยู่สวรรค์ชั้นดาวอังคารนานนม -_-“ รายละเอียดเลยแทบจะไม่เหลืออยู่ในหัวจขบ.ค่ะ จำได้แม่นแค่บรรยากาศอึดอัดกดดันในเรื่องเท่านั้นเอง เช่นตอนที่นางเอกลักลอบหนีมาใช้ชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์ ต้องพรางตัวปกปิดสีนัยน์ตากับสีผม วันดีคืนดีเจอด่านดักตรวจสแกนม่านตาเป็นพักๆ อีก (การ์ตูนเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนนี่ไม่ใช่เล่นๆ แฮะ) ตอนอ่านลุ้นตัวโก่งเลยค่ะให้นางเอกรอด

พอค้นข้อมูลเพื่อเขียนบล็อกก็พบว่ามีการวิเคราะห์แนวคิด feminism ในเรื่องหรือเปรียบเทียบชาวดาวอังคารว่าเทียบได้กับกลุ่มพลเมืองชั้นสองเช่น ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ชาวอเมริกันเชื้อสายจีน คนพื้นเมืองเดิม ฯลฯ ได้น่าสนใจ(และยืดยาว)เชียวค่ะ >> Japan’s Feminist Fabulation


ปริศนาจากเกลียวคลื่น (Umi no Aria)
อาเบลและคอลลิน สองพี่น้องไปแล่นเรือยอช์ตกับเพื่อน แล้วประสบกับพายุทำให้อาเบลจมหายไปกับสายน้ำ หลังจากความพยายามในการค้นหาตัวอาเบลล้มเหลวและทุกคนต่างถอดใจ คอลลินและเพื่อนๆ ก็เจออาเบลในสภาพสูญเสียความทรงจำ อาเบลได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหากอยู่ในสภาพไม่แพ้ทารกคือต้องกลับมาเรียนรู้ทุกอย่างรอบตัวใหม่ทั้งหมด ความโกลาหลยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณเมื่อจู่ๆ ชาวต่างชาติชื่อ อาริอาโด้ โผล่มาบอกว่าตัวเองไม่ใช่ชาวโลก และในตัวอาเบลนั้นมีสิ่งมีชีวิตต่างดาวที่ชื่อว่า เวลลิงม่อน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีอันดับหนึ่งของจักรวาลสิงอยู่

โทนเรื่องของ ปริศนาจากเกลียวคลื่น นั้นเบาสมองกว่า Star Red มากค่ะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเบาหวิว เรื่องนี้ยังคงมีแนวคิดประหลาดๆ ตามประสาการ์ตูนไซไฟอยู่เพียบแปล้ ชนิดที่อดคิดไม่ได้ว่าคนเขียนคิดมาได้เนี่ย เช่นตัวจ๊องที่กัดกินทุกสิ่งบนดาวชื่อไนท์แมร์จนทำให้วิวัฒนาการหยุดนิ่ง สิ่งมีชีวิตระบบคลื่น(อะไรหว่า) หรือเสียงดนตรีของจักรวาล เป็นต้น

นอกจากนี้คนเขียนยังแทรกแนวคิดเสียดสีและมุกฮาๆ ไว้แพรวพราวค่ะ ตัวอย่างเช่น อาเบลปรับทุกข์กับคอลลินน้องชายเพราะโดนพ่อ(คุณโอโตวะ)ตวาด (ก่อนเสียความทรงจำอาเบลเป็นนักเรียนดีเด่นค่ะ แต่พอกลับมาก็เพี้ยนสุดกู่ พ่อที่เคยภูมิใจในตัวอาเบลมากเลยรับไม่ค่อยได้)

อาเบล: คอลลินออกจากบ้านกันเถอะ ฉันเบื่อคุณโอโตวะ ชอบทำเสียงดัง
คอลลิน: ทำไมเรียกท่านแบบนั้น ท่านเป็นคุณพ่อเรานะ เราเป็นลูกของพ่อกับแม่จำได้มั้ย
อาเบล: พ่อ แม่ ลูก คืออะไรน่ะ
คอลลิน: คุณแม่เป็นคนคลอดพวกเรามาไง ยีนของเรามาจากพ่อครึ่งหนึ่ง แม่ครึ่งหนึ่ง เราเป็นตัวเป็นตนได้เพราะได้รับยีนจากพวกท่าน
อาเบล: อ๋อ…เข้าใจล่ะ งั้นคุณโอโตวะนั่นก็ตวาดฉันเพราะคาดหวังผลประโยชน์จากยีนของตัวเอง นี่สินะระบบที่เรียกว่าครอบครัว
คอลลิน: …

มุกฮาๆ ชนิดหน้าตายแบบนี้จะพบได้ตลอดทั้งเรื่องค่ะ ถ้าจะเปรียบดีกรีความฮากับการ์ตูนที่มีในท้องตลาดตอนนี้ก็คงเทียบได้กับงานของ อิมะ อิจิโกะ (ใต้เงารัตติกาล, Paradise) ล่ะมั้ง


Marginal
ในอนาคตอันไกล อารยธรรมของโลกตกต่ำถึงที่สุด มนุษย์ใช้ชีวิตยากลำบากในแดนทุรกันดาร และประสบปัญหาวิกฤติด้านอัตราการเพิ่มของประชากร ทุกเผ่าจำต้องพึ่งพาเมืองหลวงหรือ ซิตี้ เพราะที่วิหารในซิตี้มี มาเธอร์ หญิงเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะให้กำเนิดทารกได้อาศัยอยู่ กลินเจอร์ชายหนุ่มเผ่าทะเลทรายผู้รู้เท่าทันความไม่ชอบมาพากลของซิตี้จึงวางแผนลอบสังหารมาเธอร์ ในระหว่างนั้นเองกลินเจอร์ได้พบกับเด็กหนุ่มปริศนานาม คิระ ทำให้ต้องเข้าไปพัวพันกับหตุการณ์อีกมากจนได้พบว่าโลกทั้งใบนี้คือห้องทดลองในสภาวะปิดของบริษัทยักษ์ของจักรวาลบริษัทหนึ่ง


Marginal หกเล่มจบ พิมพ์ภาษาไทยโดยสนพ. Lovebook ค่ะ อ่านจากเรื่องย่อ(สังคมปิดที่มีแต่เพศชาย)กับพะยี่ห้อสนพ.ในไทยก็เดากันได้ไม่ยากนะคะว่ามันมีกลิ่นแบบไหนแฝงอยู่ แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม Marginal ก็จัดเป็นการ์ตูนไซไฟที่ดีและซับซ้อนที่สุดเรื่องหนึ่งเลยค่ะ ผู้เขียนเสนอประเด็นต่างๆ ทั้งในด้านความเชื่อ วิทยาศาสตร์ จริยธรรมในการทดลองด้านพันธุกรรมของมนุษย์ สถานะของเพศแม่ และอื่นๆ มีมาให้สะกิดใจอยู่เป็นระยะ ท่านที่นิยมหาอะไรชวนปวดหัวอ่านไม่ควรพลาด

แถมหลังอ่านจบอยากปวดหัวต่อก็มี essay วิเคราะห์สัญลักษณ์เกี่ยวกับบทบาทของเพศหญิงและความเป็น feminist ในเรื่อง(ทั้งๆ ที่ตัวละคร 95% ของเรื่องเป็นผู้ชายนี่แหละ)ให้อ่านอีกยาวเหยียดด้วยค่ะ ที่หัวข้อเดิม >> >> Japan’s Feminist Fabulation

งานภาษาไทยของฮางิโอะ โมโตะที่จขบ.พอจะมีข้อมูลเขียนก็มีเพียงสามเรื่องนี้เท่านั้นค่ะ แต่อย่างที่บอกไว้ข้างต้นค่ะ ความจริงแล้วงานของฮางิโอะ โมโตะนั้นมีเยอะและมีจำนวนมากได้รับการยกย่องว่าเป็นงานคลาสสิก จขบ.อยากลองอ่านเรื่องดังๆ อีกหลายเรื่องดูจัง แต่ท่าทางจะได้แค่ฝันวุ้ย

อัพซะยาว ทุกท่านคงมึนเต็มที วันนี้ก็ขอเอวังเพียงเท่านี้ดีกว่าค่ะ (ดูจากคิวที่เคยบอกไว้ ครั้งต่อไปก็ยังเป็นไซไฟแบบผู้หญิงที่ชวนปวดหัวอยู่นะนี่ จะยังมีคนหลงมาอ่านอยู่ไหมหนอ…)

Last Update : 15 สิงหาคม 2549 2:26:26 น.

———————

พังผืด 6
ต้องขอบคุณ คุณวีวี่ต่างหาก (ดูจากการ์ตูนที่อ่าน น่าจะวัยใกล้เคียงกันมากนะคะ) ที่ทำให้เราได้รำลึกถึงการ์ตูนเก่าๆ บางเล่มเราก็ลืมไปแล้วนะคะเนี่ย

ชอบ อ. ฮางิโอะ โมโตะ มากๆ โดยเฉพาะเรื่อง ปริศนาจากเกลียวคลื่น บอกตรงๆ ว่าจำไม่ได้แล้วว่าเรื่องราวเป็นยังไง แต่เป็นเรื่องที่เราชอบมากๆ ตอนนั้นเลย เรื่อง marginal ก็ชอบ เคยอ่านงานวิจัยเกี่ยวกะการ์ตูน Y เค้ายกย่องให้อ. เป็นต้นแบบของการ์ตูนแนวนี้เลยนะเนี่ย เรื่อง Thomas’s heart นี่ก็เป็นเรื่องยุคแรกๆ ของการ์ตูน Y ในญี่ปุ่น แต่เนื้อเรื่องอ่านแล้วเศร้าง่ะ

เห็นงาน อ. ฮางิโอะ โมโตะ แล้วก็อดนึกถึง นักเขียนรุ่นเดียวกะแกอีกคนไม่ได้ จำชื่อไม่ได้แล้ว แต่เป็นคนวาดเรื่อง สุสานฟาโรห์ น่ะค่ะ เรื่องนั้นก็ชอบมากๆๆๆๆๆ (แต่เศร้าอีกแล้ว งือๆ)

ปล. ขอบ่นนิดนึง เรื่อง marginal นี่เราเห็นปกต้นฉบับญี่ปุ่น (ที่ lovebook เอามาทำเล่ม 1) แล้วขอบอกว่าสวยอลังการงานสร้างมากกกกกก แต่ lovebook นะ เอามาทำซะ ….

โดย: เดอะ กั้ง วันที่: 15 สิงหาคม 2549 เวลา:14:39:01 น.

พังผืด 30

เข้ามาอ่านแล้วอดตอบไม่ได้ค่ะ ให้ตายเถอะ การ์ตูนที่ท่าน vee vee’ พูดถึงนี่เคยอ่านด้วย ถึงจะไม่ครบทุกเรื่องแต่พอเห็นปกก็จำได้ค่ะ
เรื่อง Star Red ไม่เคยอ่านนะคะ แต่เรื่องปริศนาจากเกลียวคลื่นนี่เคยอ่านค่ะ เป็นการ์ตูนที่จำได้ว่าอ่านแล้วรู้สึกแปลกๆดี

เรื่อง Paradise ชอบมากๆ เพิ่งได้ซื้อมาอ่าน โดยซื้อเล่ม 3 เล่มแรกแล้วไปตามอ่านอีกสองเล่ม ไม่รู้ไอ้ตอนที่มันออกทีแรกทำไมไม่เห็น เรื่องใต้เงารัตติกาลนี่ยังไม่เคยเห็นเลย -_-” ตกข่าวๆ เรื่อง Paradise นี่กำลังคิดจะโพสแนะนำลงบล๊อกอีกที่อยู่เหมือนกันเลยค่ะ เพราะมันส์สนุกมากก แนวคิดแปลกแล้วก็อ่านได้เรื่อยๆดีมากเลยค่ะ คือมันเป็นจริงได้นะ ชอบ

เรื่อง Marginal นี่ไม่ได้อ่านที่ Lovebook เอามาทำค่ะแต่อ่านของ สนพ pirate อีกแห่งหนึ่งท่าทางจะเก่ากว่า แปลชื่อเรื่องมาว่า อาณาจักรมาติกา เนื้อเรื่องน่าสนใจมากๆ แล้วก็ลายเส้นเป็นแบบที่ชอบด้วยค่ะ เสียดายว่าหาได้ไม่ครบทุกเล่ม ไม่รู้ว่าเรื่องจบยังไง -_-“

เรื่องเทพธิดาแอตแลนติสก็ชอบอ่านค้า เห็นปกแล้วจำได้เลย มันมี 8 เล่มจบหรือเปล่านะ? จพไม่ค่อยได้ XD ชอบมากๆจำได้ว่ายังเคยวาดรูปเลียนแบบนางเอกเรื่องนี้อยู่เลยค่ะ XD จำชื่ออาจารย์คนวาดไม่ได้เหมอืนกันค่ะ ^^” นางเอกเรื่องนี้ห้อยคริสตัลเป็นแท่งๆนะ เท่าที่จำได้

อาจารย์คนวาดสุสานฟาโรห์นี่เคยอ่านค่ำแต่จำชื่อไม่ได้เช่นกันทั้งๆที่มีสมุดภาพของอาจารย์แกแต่หาไม่เจอ -_-” เรื่อง Andromeda Story นี่ใช่เรื่องที่มี จิมุสะ กับ ฝาแฝดอีกคนหรือเปล่าคะ? เคยดูแต่ที่เป็น Animation น่ะค่ะ ชอบมากๆอันนั้นแต่ไม่รู้ใช่เรื่องเดียวกันหรือเปล่า แต่ถ้าไม่ใช่ก็อยากอ่านบ้างแล้ว >O<

โดย: A piece of leaf IP: 203.107.193.211 วันที่: 21 สิงหาคม 2549 เวลา:19:03:08 น.

Tags:

One comment
Leave a comment »

  1. ให้กำลังใจค่ะ เว็บคุณขุมทรัพย์ของเราเลยนะคะ

Leave Comment